วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำน้ำส้มควันไม้

การทำน้ำหมักชีวภาพ

1.การทำน้ำหมักชีวภาพ
1.1 วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชสด

ส่วนผสม
1.พืชสดทั่วไปที่หาได้ในหมู่บ้าน เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักขม 3 ปี๊บ
ผักเสี้ยน หรือพืชสีเขียวที่สดตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ รวมกัน
2.กากน้ำตาล 1 ปี๊บ
3.เปลือกสับปะรด 1 ปี๊บ
4.น้ำมะพร้าว (ถ้ามี) 1 ปี๊บ
วิธีทำ
นำพืชสด กากน้ำตาล เปลือกสับปะรด และน้ำมะพร้าวตามอัตราส่วน ผสมคลุกเคล้าด้วยกันบรรจุลงในถังพลาสติก ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 30 วัน ขึ้น จึงสามารถใช้ได้
ประโยชน์และวิธีใช้
เร่งการเจริญเติบโตของพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ใช้น้ำหมักชีวภาพ 3 – 4 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุกๆ 5 – 7 วัน
ใช้เป็นสารเร่งและเพิ่มคุณภาพปุ๋ยหมัก ใช้กำจัดกลิ่นเน่าเสียหรือในคอก ปศุสัตว์ ใช้น้ำหมักชีวภาพ ประมาณ 15 – 20 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ราด รด ให้ชุ่ม
ใช้แช่เมล็ดก่อนเพาะปลูก 12 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มอัตราการงอก น้ำหมักชีวภาพ 3 ช้อน ต่อน้ำ 1 ปี๊บ แช่เมล็ดพันธุ์

1.2 วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้
ส่วนผสม
1.ผลไม้สุก เช่น ฟักทอง มะละกอ กล้วยน้ำว้า หรือมะเขือเทศ 2 ปี๊บ
2.พืชสดหลายๆ ชนิด สับเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ปี๊บ
3.กากน้ำตาล 1 ปี๊บ
วิธีทำ
นำผลไม้ พืชสด มาสับให้ละเอียด หรือยาวประมาณ 1 นิ้ว กากน้ำตาล เปลือกสับปะรด น้ำมะพร้าวตามอัตราส่วน ผสมคลุกเคล้าเข้ากันบรรจุลงในถังพลาสติก ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 30 วันขึ้นไป จึงสามารถใช้ได้
ประโยชน์และวิธีใช้
เร่งการติดดอก ติดผล ของพืชผัก ผลไม้ ใช้น้ำหมักชีวภาพ 3 – 4 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุกๆ 5 – 7 วัน ตั้งแต่ระยะ พืชออกดอก และติดผลได้

1.3 วิธีทำน้ำหมักชีวภาพจากสัตว์
ส่วนผสม
1. หอยเชอรี่บด หรือทุบให้ละเอียด หรือปลาป่น 1 ปี๊บ
2. กากน้ำตาล 1 ปี๊บ
3. น้ำ 1 ปี๊บ
วิธีทำ
นำหอยเชอรี่ทุบหรือบดละเอียดหรือปลาป่น กากน้ำตาล หรือเปลือกสับปะรด ผสมคลุกเคล้าด้วยกัน บรรจุลงในถังหมักปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มนาน 6 เดือน นำไปใช้
ประโยชน์และวิธีใช้
เช่นเดียวกับน้ำหมักชีวภาพชนิดอื่นๆ

2. วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช


2.1 ปฏิบัติเช่นเดียวกับการทำน้ำหมักชีวภาพชนิดอื่น เพียงแต่เปลี่ยนชนิดพืชผัก ผลไม้ เป็นชนิดพืชที่มีฤทธิ์ทางยาสมุนไพร เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้ นาสูบ บอระเพ็ด สาบเสือ อื่นๆ

2.2 นำพืชดังกล่าวมาทุบหรือตำให้แหลก แช่น้ำหมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกรองเอาแต่น้ำไปใช้ฉีดพ่นพืชได้
วิธีทำ
นำพืชสด กากน้ำตาล เปลือกสับปะรด และน้ำมะพร้าวตามอัตราส่วน ผสมคลุกเคล้าด้วยกันบรรจุลงในถังพลาสติก ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 30 วัน ขึ้นไป จึงสามารถใช้ได้
ประโยชน์และวิธีใช้
ขับไล่แมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ใช้ทุกๆ 5 – 7 วัน

2.3 ข้อเสนอแนะ และวิธีใช้น้ำหมักชีวภาพ

- การผสมน้ำหมักครั้งแรก 1 ปี๊บ กากน้ำตาล 1 ปี๊บ และน้ำเปล่า 10 ปี๊บ ผสมให้เข้ากันใส่ถังปิดฝาเก็บไว้ 7 วัน ใช้งานได้
- ใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่น ราด รด พืชผัก ผลไม้ สัตว์เลี้ยง ดับกลิ่น ราดแผลที่สัตว์จะทำให้หายเร็ว ควรใช้ในช่วงเช้าหรือเย็นจะได้ผลมากกว่า เพราะน้ำหมักชีวภาพเป็นสิ่งมีชีวิตและเมื่อถูกแสงแดดมากจะได้ผลเร็ว คือ จุลินทรีย์จะเป็นประโยชน์มาก
- การหมักให้หมั่นเขย่าถังหมักพร้อมเปิดฝาวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น เมื่อครบ 7 วัน ให้พิสูจน์โดยการดมจะมีกลิ่นหอมหวาน แสดงว่าใช้ได้ ถ้ามีกลิ่นบูดเปรี้ยวให้เติมกากน้ำตาลหมักไว้จนกว่าจะมีกลิ่นหอมหวาน การเก็บน้ำหมักต้องเก็บไว้ในที่มืดสามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี
- การใช้น้ำหมักชีวภาพ ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
- ไม่ควรใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับการใช้สารเคมีทุกชนิด
- ใช้วัสดุหมักที่สะอาดและไม่เป็นโรค

2.4 การทำปุ๋ยหมัก
ส่วนผสม
1. ปุ๋ยคอก 3 ปี๊บ
2. แกลบดำ (ผ่านการเผา) 1 ปี๊บ
3. รำละเอียด 1 ปี๊บ
4. อินทรียวัตถุที่หาได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื่อย เปลือกถั่วลิสง เปลือกถั่วเขียว ขุยมะพร้าว ใบไม้แห้ง ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน 3 ปี๊บ
5. น้ำหมักชีวภาพ 1 ปี๊บ
6. กากน้ำตาล 1 ปี๊บ
7. น้ำ 100 ปี๊บ
คนจนละลายเข้ากัน
วิธีทำ
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน รดด้วยน้ำหมักชีวภาพพอชุ่ม กองปุ๋ย หมักหนา ประมาณ 15 เซนติเมตร คลุมด้วยกระสอบพลิกกลับวันละ 1 ครั้ง หมักไว้ 3 – 5 วัน ใช้มือจับดูว่าเย็นหรือร้อน ถ้าเย็นก็สามารถนำไปใช้ได้
ประโยชน์และวิธีใช้
ใช้ได้ดีกับพืชผักทุกชนิด ปุ๋ยคอกจะมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืชมากขึ้น
http://phraphutthabat.saraburi.doae.go.th/water.htm

วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า อยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
ประวัติวันเข้าพรรษา
ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา"
แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็คือ
1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
ประเภทของการเข้าพรรษา
การเข้าพรรษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
เครื่องอัฏฐบริขารของภิกษุระหว่างการจำพรรษา
โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
การปฏิบัติตนในวันเข้าพรรษา
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น
มีประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง อีกทั้งมีการ "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
.กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
1.ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
2.ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร
3.ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
4.อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ

วันอาฬาหบูชา

  วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง  พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ  พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
            การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ   หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ  ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ      สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา    สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
            เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
            คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
            ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
            การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้  ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ  และตั้งใจชอบ  อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่  
               ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ  อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
               สาเหตุแห่งทุกข์  ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
               ความดับทุกข์  โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
               หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์  ได้แก่ อริยมรรคมีองค์  8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ
                    ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
                    นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้  และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
                    นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
                    นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง  และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
                    นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ  และพระองค์ ได้เจริญแล้ว
            สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4   มีรอบ 3   มีอาการ 12   คือ   ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
            พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา   ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
            เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
            วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
            1.  เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร   ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
            2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
            3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

วันวิสาขบูชา

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนุมานประสานกาย


 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Schefflera leucantha  R. Vig.

วงศ์  Araliaceae

ชื่อ อื่น :  -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำใกล้พื้นดิน เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 6-8 ใบ รูปรี กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 5-8 ซม. โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวนวล ผล เป็นผลมีเนื้อ รูปทรงกลม ขนาดเล็ก
ส่วนที่ใช้ :
 ใบสด

สรรพคุณ :
  1. รักษาโรคหืด โรคแพ้อากาศ ขับเสมหะ
  2. รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
  3. รักษาวัณโรคปอด แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด
  4. ตำพอกแผลห้ามเลือด ห้ามเลือด
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • รักษาโรคหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ
    ใช้ใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น เป็นเวลา 49 วัน หืดควรจะหาย
  • ยาแก้อาเจียนเป็นเลือดใช้ใบสด 12 ใบย่อย ตำคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน
  • ใช้รักษาวัณโรคใช้เหมือนวิธีที่ 1 ติดต่อกัน 60 วัน แล้ว x-ray ดู ปอดจะหาย แล้วให้รับประทานต่อมาอีกระยะหนึ่ง
สารเคมี :
         พบ Oleic acid, butulinic acid, D - glucose, D - Xylose, L - rhamnose